อินซูลิน ควรรู้ก่อนใช้ควบคุม เบาหวาน

ปรับปรุงล่าสุด : 18 มกราคม 2564

<strong>อินซูลิน</strong> ควรรู้ก่อนใช้ควบคุม <strong>เบาหวาน</strong> #1

อินซูลิน เป็นฮอร์โมนที่ตับอ่อนสร้างขึ้นและจำเป็นในการนำน้ำตาลในเลือดไปยังเนื้อเยื่อต่างๆ ทั่วร่างกายที่ต้องการพลังงาน แต่ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน การสร้างเซลล์ต่างๆ ในร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดที่ได้จากการเปลี่ยนแปลงจากอาหารไปใช้ให้เป็นพลังงานได้อย่างเต็มที่ เพราะขาดฮอร์โมนอินซูลิน จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร มีโรคแทรกซ้อนง่าย เช่น โรคติดเชื้อ เป็นแผลหายยาก โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต และโรคตา

ผู้ป่วยเบาหวานที่ตับอ่อนสร้างอินซูลินไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ผู้ป่วยเบาหวานที่มีโรคแทรกซ้อนทางตับ ไต และรักษาโดยยาชนิดรับประทานไม่ได้ผล ต้องใช้อินซูลิน

ชนิดของอินซูลิน

  • อินซูลินวัว มาจากตับอ่อนของวัว
  • อินซูลินหมู มาจากตับอ่อนของหมู
  • อินซูลินหมูและวัว เป็นอินซูลินที่ได้จากส่วนผสมของตับอ่อนหมูและวัว
  • อินซูลินคน ได้จากกระบวนการชีวเคมีสังเคราะห์ หรือวิธีพันธุวิศวกรรมทางชีวสังเคราะห์ จึงสามารถทำให้เหมือนอินซูลินในร่างกายคนได้ (อินซูลินคน มีความบริสุทธิ์มากที่สุด และเกิดอาการแพ้เนื่องจากภูมิต้านทานทางฤทธิ์ของยาน้อยกว่าอินซูลินชนิดอื่น

ลักษณะของอินซูลิน

อินซูลินใส จะเหมือนน้ำบริสุทธิ์ ไม่มีสี เป็นยาที่ให้ผลรวดเร็วหลังฉีดประมาณ 30 นาที มีช่วงเวลาออกฤทธิ์เพียง 6 ชั่วโมง (โดยประมาณ) อินซูลินขุ่น จะมีตะกอนเล็ก ๆ แขวนลอยอยู่ ออกฤทธิ์นานประมาณ 16 – 20 ชั่วโมง

ทำไมต้องใช้อินซูลินโดยวิธีฉีด

หากผู้ป่วยได้รับอินซูลินโดยการรับประทาน ตัวยาจะถูกทำลายโดยน้ำย่อยในระบบทางเดินอาหาร จึงต้องใช้วิธีฉีดเข้าร่างกายโดยตรง ซึ่งปัจจุบัน “ปากกาฉีดอินซูลิน” ได้มีการพัฒนาให้ใช้สะดวกเกิดความเจ็บปวดขณะฉีดน้อยลง มีความแม่นยำสูง ผู้ป่วยไม่กลัวการฉีดอินซูลินอีกต่อไป

วิธีฉีดอินซูลิน

ปกติจะฉีดใต้ผิวหนัง แต่ต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำจากแพทย์อย่างเคร่งครัด

การเตรียมยาอินซูลิน

ตรวจดูลักษณะยา ถ้าเป็นชนิดน้ำใส ต้องไม่หนืด ไม่มีสี ถ้าเป็นชนิดน้ำขุ่นแขวนตะกอน ให้คลึงขวดยาบนฝ่ามือทั้งสองข้างเบา ๆ เพื่อให้ยาผสมกันทั่วทั้งขวด **ห้ามเขย่าขวดอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดฟอง

ฉีดอินซูลินตรงไหนดี

ฉีดได้ทั้งบริเวณหน้าท้อง หน้าขาทั้ง 2 ข้าง สะโพก ต้นแขนทั้ง 2 ข้าง ที่สำคัญ ต้องใช้แอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาด และเมื่อดึงเข็มออก ให้ใช้สำลีกดเบา ๆ ห้ามนวดตรงที่ฉีด ในการฉีดครั้งต่อไปควรฉีดห่างจากจุดเดิม 1 นิ้ว และควรฉีดบริเวณเดียวกันให้ทั่วก่อนไปฉีดบริเวณอื่น

ห้ามฉีดซ้ำที่เดิมมากกว่า 1 ครั้ง / 1 - 2 เดือน

ผู้ป่วยโรคเบาหวานงายต่อการติดเชื้อ ควรรักษาอนามัยส่วนตัวให้สะอาด โดยเฉพาะฟันและเท้า ถ้ามีบาดแผล รอยข่วน หรือแผลเปื่อยยิ่งต้องระมัดระวังเรื่องความสะอาดเป็นพิเศษ

อาการข้างเคียงและข้อควรปฏิบัติ

  • ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เป็นผลจากการให้อินซูลินมากเกินไป รับประทานอาหารน้อยเกินไป ผิดเวลา หรือช่วงระหว่างมื้อนานเกินไป ออกกำลังกายหรือทำงานมากกว่าปกติ จะมีอาการปวดหัว เหงื่อออก ใจสั่น กระสับกระส่าย อ่อนเพลีย ชาในปากหรือริมฝีปาก เดินเซ หงุดหงิด มองภาพไม่ชัด ถ้ามีอาการเหล่านี้ให้ดื่มน้ำผลไม้ หรือรับประทานของที่มีน้ำตาลผสม (ห้ามใช้น้ำตาลเทียม) และพบแพทย์ทันที
  • ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เป็นผลจากการได้รับอินซูลินไม่เพียงพอ หรือรับประทานมากเกินไป จะปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ หิว ปวดหัว อ่อนเพลีย คลื่นไส้ มึนงง ถ้าเป็นลมให้นำส่งโรงพยาบาลทันที

ข้อควรระวังในการใช้อินซูลิน

ก่อนใช้อินซูลินควรบอกแพทย์หากเคยมีประวัติแพ้อินซูลินที่ทำจากหมูหรือวัว กำลังตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร รวมทั้งผู้เป็นโรคต่อมไทรอยด์ โรคตับ โรคไตและโรคติดเชื้อ นอกจากนี้ หากกำลังใช้ยาอื่นอยู่ ต้องแจ้งแพทย์และเภสัชกร ห้ามรับประทานยาแก้หวัดหรือยาภูมิแพ้ที่มีน้ำตาลและแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ผู้ป่วยเบาหวานควรมีบัตรประจำตัวระบุชื่อนามสกุล ชื่อแพทย์ประจำตัว เบอร์โทรศัพท์ ชื่อชนิดและขนาดของอินซูลินที่ใช้พกติดตัวเสมอ

เคล็ดลับเก็บรักษาอินซูลิน

ตามปกติเก็บอินซูลินที่อุณหภูมิ 2 – 8 องศาเซลเซียส เก็บได้นานเท่ากับอายุยาข้างขวดแต่สามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิห้อง (ประมาณ 25 องศาเซลเซียส) ได้นานประมาณ 1 เดือน อินซูลินที่เก็บในอุณหภูมิสูง เช่น กลางแดดจัด หรือที่อุณหภูมิต่ำมากๆ เช่น ในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่ควรใช้เป็นอย่างยิ่งเนื่องจากยาเสื่อมคุณภาพ

ผู้ป่วยเบาหวาน นอกจากการรับอินซูลินตามแพทย์สั่งแล้ว ควรหมั่นออกกำลังกาย ควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัด และอย่าลืมทำจิตใจให้สบาย เพียงเท่านี้สุขภาพของท่านก็จะดีวันดีคืนขึ้นได้


Credit : ภญ.ชัยวรรณี เกาสายพันธ์ ฝ่ายเภสัชกรรม Faculty of Medicine Siriraj Hospital คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

Khampo.com

สนใจสินค้า หรือ ต้องการพูดคุยปรึกษา เรื่องการดูแลสุขภาพ ติดต่อสอบถามพวกเรา KHAMPO.com (คำโพธิ์ด๊อดคอม) ได้เสมอค่ะ