อะไรคือตัวกำหนด อายุขัยของสิ่งมีชีวิต

ปรับปรุงล่าสุด : 18 มกราคม 2565

อะไรคือตัวกำหนด อายุขัยของสิ่งมีชีวิต #1

สิ่งมีชีวิตบนโลก ในความเป็นจริงแล้วมีต้นกำเนิดมาจากแหล่งเดียวกันตั้งแต่นับพันล้านปีก่อน ตั้งแต่โมเลกุล RNA/DNA กำเนิดขึ้นมา เริ่มมีการแบ่งตัวกลายเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว และพัฒนาต่อมาเรื่อยๆกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีโครงสร้างซับซ้อนในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์พบว่าในสิ่งมีชีวิตชั้นสูงเองก็มียีนที่สืบทอดกันมาตั้งแต่นับพันล้านปี ที่มีคุณลักษณะของการเอาตัวรอด แต่ในเมื่อสิ่งมีชีวิตมียีนที่มีคุณลักษณะของการเอาตัวรอดดังกล่าว แล้วทำไมเราถึงไม่มีร่างกายเป็นอมตะ นักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์ว่า เป็นเพราะบรรพบุรุษของเราสุดท้ายก็เป็นผู้ถูกล่าและ ต้องตายไป ดังนั้นร่างกายจึงไม่ได้พัฒนาให้อยู่อย่างยาวนานในทางธรรมชาติ

จะเห็นว่าห่วงโซ่อาหารเป็นตัวหนึ่งที่กำหนดอายุขัยของสิ่งมีชีวิต ดังนั้นเราจึงเห็นหนูมีอายุเพียงไม่เกิน 3ปี ในขณะที่นกบางชนิดที่เป็นผู้ล่าจึงมีอายุถึง 100ปี เช่นเดียวกันกับที่เราจะพบสัตว์เช่นกิ้งก่าบางชนิดในเกาะที่ห่างไกลของญี่ปุ่นมีอายุหลายสิบปี เนื่องจากในเกาะไม่มีผู้ล่าเลยจนกิ้งก่าพัฒนาตัวเองจนกลายเป็นผู้มีอายุยืน แต่อย่างไรก็ตามทฤษฎีดังกล่าวก็ยังไม่สามารถเอาชนะธรรมชาติที่เลือกสรรไม่ให้สิ่งมีชีวิตใดมีร่างกายอมตะพร้อมๆไปกับยีนที่ต้องการเอาตัวรอดไปได้ แล้วมนุษย์ล่ะจะสามารถอยู่เหนือกฏเกณฑ์ดังกล่าวได้ไหม

ก่อนอื่นเรามาดูก่อนว่ามนุษย์ผ่านอะไรมาบ้าง ในอดีตมนุษย์ก็เป็นผู้ล่าแต่มิได้มีความสามารถที่จะเอาชนะได้ทุกสิ่ง หลายๆคนสับสนคำว่าอายุขัย ซึ่งหมายถึงระยะเวลานับตั้งแต่มนุษย์คนนึงเกิดจนถึงตาย กับอายุคาดหวังเฉลี่ย ซึ่งเป็นตัวเลขสถิติเฉลี่ยที่คาดว่ามนุษย์จะมีชีวิตซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยนับรวมมนุษย์ทุกคนที่อาจจะตายเพราะโรคภัยไข้เจ็บ การอดอาหาร สงคราม หรืออื่นๆด้วย ซึ่งอายุคาดหวังเฉลี่ยของมนุษย์ในอดีต ตั้งแต่ก่อนปี 1800 นั้นอยู่ที่ประมาณ 30 ปีเท่านั้น ด้วยความรู้ทางสาธารณสุขที่จำกัดทำให้มีการเสียชีวิตด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่างๆมากมาย แต่หลังจากปี 1900 เป็นต้นมา อายุคาดหวังเฉลี่ยของมนุษย์ก็เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆจนมากกว่า 70 ปี ในปัจจุบัน (เกิน 80 ปีในยุโรปหลายๆประเทศ และ 85 ปีในญี่ปุ่น) เนื่องจากความก้าวหน้าทางการแพทย์และสาธารณสุขนั่นเอง

แล้วตัวเลขอายุขัย ของมนุษย์ในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันเป็นเท่าไหร่และมีการเปลี่ยนแปลงไหม จากในอดีตเมื่อ 2 พันปีที่แล้ว มีบุคคลชื่อ Pliny ได้บันทึกใน The Natural History ได้คนที่มีอายุมากที่สุดได้ที่ประมาณ 100-115 ปีทีเดียว แสดงถึงว่าอายุขัยของมนุษย์นั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงในระยะเวลา 2 พันปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม มนุษย์ก็นับว่าเป็นสิ่งมีชีวิตประเภท Primate (ลิงที่ใช้มือได้) ที่มีอายุยืนที่สุด

แล้วมนุษย์เราได้เดินทางมาถึงขีดจำกัดที่สูงสุดของอายุขัยหรือยัง ถ้าเราไปเปรียบเทียบกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมด้วยกัน เราจะแปลกใจว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม(ซึ่งถือว่ามีความใกล้ชิดมนุษย์ อย่าง วาฬหัวคันศร (Bowhead Whale) มีอายุถึง 200 ปี ส่วนสัตว์น้ำชนิดอื่นที่มีอายุขัยมากกว่านี้คือ Greenland Shark ที่ส่วนใหญ่มีอายุถึง 200 ปีแต่พบว่าบางตัวมีอายุถึง 400 ปี หรือหอยที่มีชื่อว่า “Ming” the calm ที่มีอายุมากกว่า 500 ปี ถ้าไปดูสิ่งมีชีวิตที่เป็นพืชบ้างเราจะพบความน่าตกใจยิ่งกว่า ยกตัวอย่างเช่นต้น Jurupa Oak ที่มีอายุอย่างต่ำ 13,000 ปี ถึงมากที่สุด 30,000 ปี !! และแน่นอนว่าที่สุดของสิ่งมีชีวิตนั่นคือ แมงกระพรุนอย่าง Immortal Jellyfish ที่สามารถย้อนอายุให้ตัวเองได้เมื่อมีการบาดเจ็บหรือความเครียด ทำให้สัตว์ชนิดนี้สามารถมีชีวิตอมตะ

การมีอายุยืนยาวหรือเป็นอมตะนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ ถึงแม้ว่าเรื่องเหล่านี้ยังไม่สามารถทำได้ในมนุษย์ แต่ใครจะรู้ว่าสักวันเราอาจจะสามารถไขความลับดังกล่าวก็ได้ โดยนักวิทยาศาสตร์หลายคนมีความเชื่อว่าการค้นพบดังกล่าวน่าจะอยู่ในอนาคตอันใกล้ๆนี้

แหล่งข้อมูล

FB Pages : HackYourAge

Lifespan – Whey We Age and Why We Don’t Have to (Dr. David Sinclair)

https://en.wikipedia.org/wiki/Life_expectancy

https://en.wikipedia.org/wiki/Maximum_life_span

https://www.bbc.com/.../20181002-how-long-did-ancient...

https://www.pnas.org/content/107/suppl_1/1718

https://onekindplanet.org/.../top-10-worlds-longest.../

https://en.wikipedia.org/.../List_of_longest-living...

Khampo.com

สนใจสินค้า หรือ ต้องการพูดคุยปรึกษา เรื่องการดูแลสุขภาพ ติดต่อสอบถามพวกเรา KHAMPO.com (คำโพธิ์ด๊อดคอม) ได้เสมอค่ะ