วัคซีนต้านโควิด19 ถามตอบ ข้อสงสัย ไขข้อกังวล ก่อนฉีดวัคซีนโควิด19

ปรับปรุงล่าสุด : 10 มิถุนายน 2564

วัคซีนต้านโควิด19 ถามตอบ ข้อสงสัย ไขข้อกังวล ก่อนฉีด<strong>วัคซีนโควิด</strong>19 #1

แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขเริ่มเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนและนัดวัน-เวลา การฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา แต่ยังมีข้อสงสัยและความกังวลต่าง ๆ จากคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเกี่ยวกับอาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน ประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละยี่ห้อ รวมทั้งการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสว่าจะมีผลต่อการป้องกันโรคหรือไม่

บีบีซีไทยสนทนากับ รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข เพื่อตอบข้อสงสัยดังกล่าว ก่อนที่การฉีดวัคซีนล็อตใหญ่จะเริ่มตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไป

ถาม: ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วมีโอกาสติดเชื้ออีกหรือไม่ เมื่อเกิดภูมิคุ้มกันต้องฉีดซ้ำหรือไม่

ตอบ: ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าไม่มีวัคซีนตัวไหนป้องกันโรคได้ 100% หลังจากฉีดครบโดสแล้ว ก็ยังสามารถติดเชื้อได้ แต่ถ้าเป็นหรือติด ส่วนใหญ่อาการจะน้อย อาจไม่ถึงขั้นรุนแรงจนต้องนอนห้องไอซียู หรือเสียชีวิต เพราะฉะนั้นเมื่อฉีดวัคซีนแล้ว ก็ยังต้องมีระบบการป้องกันตัวอีกเหมือนเดิม เช่นการสวมหน้ากาก รักษาระยะห่าง และดูแลสุขอนามัย สำหรับคนที่เคยเป็นแล้ว แต่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ก็แนะนำให้ฉีดวัคซีน หลังจากหายดีเป็นเวลาประมาณสามเดือนแล้วค่อยฉีดกระตุ้นซ้ำอีกครั้ง

ถาม: ประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีน 2 ยี่ห้อแรกที่นำมาฉีดในไทยเท่ากันหรือไม่

ตอบ: สำหรับวัคซีนที่นำมาใช้ในไทย ก็มีซิโนแวคที่มาจากประเทศจีน และแอสตร้าเซนเนก้าจากสหราชอาณาจักร ทั้งสองตัวมีแฟลตฟอร์มในการผลิตที่แตกต่างกัน ดังนั้น จะนำมามาเปรียบเทียบกันไม่ได้ และยังไม่มีใครที่เอาวัคซีนสองตัวมาศึกษาเทียบกับแบบตัวต่อตัว เพราะฉะนั้นจึงตอบไม่ได้ อย่างไรก็ตาม วัคซีนถือว่ามีประโยชน์

ถาม: วัคซีนโควิดที่ฉีดให้คนไทยจะป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ได้หรือไม่

ตอบ: จะเห็นว่าผู้ผลิตวัคซีนกำลังศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเชื้อที่กลายพันธุ์ และก็พบว่าวัคซีนต้านเชื้อโควิด-19 เกือบทุกชนิดยังพอจะสู้กับเชื้อกลายพันธุ์ได้ แต่จะมากหรือน้อยแตกต่างกันไปตามผลการศึกษาของแต่ละวัคซีน ขอยกตัวอย่างสองตัวที่เรามีอยู่ ตัวแรกก็คือ ซิโนแวค พบว่าสามารถต่อสู้กับเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์อังกฤษได้บ้าง ไม่มากเท่าไหร่ แต่สำหรับสายพันธุ์เซาท์แอฟริกันได้ผลไม่ค่อยดีนัก ส่วนผลของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าต่อสายพันธุ์อังกฤษ ต่อสู้ได้ลดลงประมาณ 10% เมื่อเทียบกับเชื้อดั้งเดิม แต่สายพันธุ์เซาท์แอฟริกันไม่ดีเลยลดลงจาก 80% เหลือแค่ประมาณ 20% เท่านั้นเอง เชื้อกลายพันธุ์เป็นสิ่งที่ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์กังวลมาก การกลายพันธุ์จะก่อให้เกิดปัญหาต่อวัคซีนได้ผลน้อยลง

ถาม: การที่ไทยมีโรงงานผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ในประเทศจะส่งผลดีต่อการรับมือเชื้อกลายพันธุ์อย่างไร

ตอบ: จากการประสบการณ์การเป็นแพทย์ด้านการติดเชื้อมากว่า 40 ปี บอกได้ว่าเชื้อต้องมีการกลายพันธุ์อย่างแน่นอน เช่นเดียวกันกับโรคไข้หวัดใหญ่ที่มีการกลายพันธุ์ไป ทำให้สิ่งที่เป็นส่วนประกอบในวัคซีนไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ตรง หรือเปลี่ยนไปจนภูมิคุ้มกันจดจำไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น วัคซีนที่ฉีดเข้าไปก็ไม่ต่างจากน้ำเปล่า การที่มีโรงงาน (ผลิตวัคซีน) อยู่ในประเทศถือว่าเป็นข้อได้เปรียบ จากอัตราการกลายพันธุ์ที่กำลังเกิดขึ้นเร็วมากในขณะนี้ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของการผลิตวัคซีนชุดใหม่ หากว่ามีสัญญาณจากวงการแพทย์ระดับโลกในเรื่องนี้แล้ว การที่ไทยมีโรงงานในประเทศก็จะทำให้กระบวนการผลิตเป็นไปอย่างรวดเร็ว และถือเป็นข้อได้เปรียบของไทยที่จะมีโอกาสในการพัฒนาวัคซีนเองได้ด้วย

ถาม: ผลข้างเคียงและอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนน่ากังวลแค่ไหน

ตอบ: วัคซีนต้านโควิด-19 สร้างขึ้นมาเพียงระยะเวลา 10-11 เดือนเท่านั้น ปกติวัคซีนที่เราใช้ ๆ กัน แต่ละตัว จะต้องได้รับการพัฒนาประมาณ 5-10 ปี สิ่งที่ทางการแพทย์บอกว่าวัคซีนตัวไหนจะพอนำมาใช้ได้ต้องผ่านหลอดทดลอง สัตว์เล็ก สัตว์ใหญ่ก่อนจะมาสู่คนในระยะที่หนึ่ง ระยะที่สองและระยะที่สาม รวมกันหมดในคนจะต้องมีอาสาสมัครที่จะมาทดลองวัคซีนแต่ละตัวประมาณ 3-4 หมื่นคน แต่สำหรับวัคซีนซิโนแวค ซึ่งฉีดไปแล้วประมาณร้อยกว่าล้านโดส บางอย่างที่ไม่เคยเห็นในขั้นการทดลองก็จะเริ่มเห็น และทุกครั้งจะต้องมาวิเคราะห์พิจารณากันว่าจะฉีดกันต่อไหม เช่น เรื่องปวดบวมแดงร้อน (บริเวณที่ฉีด) อาจจะเกิดขึ้นได้ประมาณ 20% แต่อาการข้างเคียงบางอย่าง ยกตัวอย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้ ในไทยที่มีคนฉีดแล้วอาการคล้าย ๆ สโตรก (โรคหลอดเลือดสมอง) แต่สุดท้ายพบว่าไม่ใช่สโตรก เพราะเมื่อวิเคราะห์ลงลึกแล้ว พบว่าอาการหายไปภายในหนึ่งวันและผู้ที่มีอาการก็เป็นเพศหญิงทั้งหมด อายุเฉลี่ย 30 ปี นอกจากนั้นส่วนใหญ่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ สุดท้ายเรามีการปรึกษากับองค์การอนามัยโลกว่าอันนี้เป็นอะไรได้บ้าง องค์การอนามัยโลกก็ยืนยันว่าเคยเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ในวัคซีนอื่น ๆ ด้วย ซึ่งเรียกว่า Immunization Stress-Related Responses (ISRR) หรือ อาการที่เกิดจากความวิตกกังวลและความเครียด

ถาม: คนไทยต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 กี่คนจึงจะเกิดภูมิคุ้มกันแบบหมู่

ตอบ: ภูมิคุ้มกันหมู่ที่เกิดจากวัคซีนป้องกันโควิด-19 น่าจะอยู่ราว ๆ 70 -75% แต่อาจจะเกิดคำถามขึ้นมาว่า หากจะขอเลือกเป็นคนที่ไม่ฉีดวัคซีนและอยู่ใน 30% ที่เหลือได้หรือไม่ คำตอบคือได้แต่คุณจะมีความเสี่ยงที่จะไม่มีภูมิคุ้มกันป้องกันตนเอง ในขณะที่คนอื่นมีภูมิคุ้มกัน ขอแนะนำให้คุณอยู่ในกลุ่ม 70% (ที่ได้รับวัคซีน) จะดีกว่า ส่วนเป้าหมายของประเทศไทย ก็คือภายในสิ้นปีนี้อย่างน้อยสุดจะพยายามฉีดให้ได้ภายในระดับที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ ซึ่งต้องมีประชากรประมาณ 70% ที่ได้รับวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ประชากรคนไทยมีประมาณ 66 ล้านคน หากคิดสัดส่วน 70% ก็เท่ากับ 50 ล้านคน นั่นคือต้องการวัคซีนอย่างน้อย 100 ล้านโดส ซึ่งตามแผมเดิมไทยมีวัคซีนเตรียมไว้ประมาณเกือบ 68 ล้านโดส ก็จำเป็นต้องมีการเสริมเข้ามา นอกจากนี้ในช่วงปลายปีคาดว่าคงต้องฉีดในกลุ่มเด็กได้และต้องการจำนวนวัคซีนเพิ่มอีก

5 พฤษภาคม 2021

โดย วัชชิรานนท์ ทองเทพ และ วสวัตติ์ ลุขะรัง

Khampo.com

สนใจสินค้า หรือ ต้องการพูดคุยปรึกษา เรื่องการดูแลสุขภาพ ติดต่อสอบถามพวกเรา KHAMPO.com (คำโพธิ์ด๊อดคอม) ได้เสมอค่ะ