ไขมันพอกตับ ไขมันเกาะตับ
ปรับปรุงล่าสุด : 11 พฤศจิกายน 2564โรคไขมันพอกตับ Fatty Liver Disease หรือไขมันเกาะตับ เป็นกลุ่มของโรคที่เกิดจากการสะสมไขมันในตับมากเกินปกติ คือประมาณ 5-10% ของตับ ไขมันที่เข้าไปแทรกตับนั้นมักเป็นไขมันชนิดไตรกลีเซอไรด์ ภาวะไขมันพอกตับนี้เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่ทำให้ผลการทำงานของตับผิดปกติ ไม่ทำให้เกิดการเจ็บปวด แต่เป็นภัยเงียบที่ไม่อาจรู้ตัวเลยว่าเป็น การวินิจฉัย สามารถทำได้โดยการตรวจเลือด การตรวจอัลตราซาวนด์ การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า การเจาะชิ้นเนื้อตับ Liver biopsy มาตรวจเพื่อดูปริมาณไขมันและการอักเสบรวมถึงระดับผังผืดในตับ
สาเหตุของโรคไขมันพอกตับสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
- จากการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ (alcoholic fatty liver disease) ความรุนแรงของโรคจะขึ้นกับประเภท ปริมาณ และระยะเวลาที่ดื่มแอลกอฮอล์
- ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ (non-alcoholic fatty liver disease) โดยมีผลจากโรคที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานของร่างกาย เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ไวรัสตับอักเสบซี
ปัจจัยเสี่ยงของโรคไขมันพอกตับ
- โรคอ้วน ประมาณร้อยละ 20 ของคนที่เป็นโรคอ้วนจะมีโรคไขมันพอกตับอยู่ด้วย ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากเกิน (ดัชนีมวลกายหรือ BMI 25-30) ผู้ชายรอบเอวเกิน 40 นิ้ว ผุ้หญิงรอบเอวเกิน 35 นิ้ว
- ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน หรือน้ำตาลในเลือดมากกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ผู้ที่มีไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดสูงกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ผู้ที่มีไขมันดี หรือ HDLต่ำ (ผุ้ชายน้อยกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ผู้หญิงน้อยกว่า 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตร)
- ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มาก
- ผู้ที่รับประทานอาหารที่มีรสหวานมากเกินไป เช่น ดื่มชาเขียวที่มีรสหวานแทนน้ำ
แนวทางในการป้องกันและลดความเสี่ยงจากโรคไขมันพอกตับ
- หากมีน้ำหนักตัวมาก ควรลดน้ำหนักโดยให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย เช่น 0.25-0.5 กิโลกรัม/สัปดาห์ จนกระทั่งน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
- ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน หากเป็นไปได้ควรออกกำลังกายทั้งแบบแอโรบิกและแบบมีแรงต้าน เช่น เดินเร็วครึ่งชั่วโมง แล้วตามด้วยการยกน้ำหนักแบบแรงกระแทกต่ำ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่มีไขมันต่ำ กากใยสูง และให้พลังงานต่ำ
- หากเป็นเบาหวานหรือไขมันในเลือดสูง ควรควบคุมโรคให้ดีด้วยการรับประทานยาตามแพทย์สั่ง ควบคุมอาหาร และออกกำลังกาย
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่นอกเหนือจากที่แพทย์สั่ง
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำ
ที่มา : ข้อมูลจากโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ , โรงพยาบาลศิริราช