ผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่น แนะนำให้ทาน เพื่อลดน้ำตาลในเลือด
ปรับปรุงล่าสุด : 3 กุมภาพันธ์ 2565ระดับน้ำตาลในเลือดที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลทำให้ร่างกายผลิตอินซูลินมากขึ้นเพื่อเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นไขมันและนำไปสะสมไว้ในร่างกาย หากชอบทานอาหารที่มีรสหวานและทานในปริมาณมากบ่อยๆ ก็จะทำให้ร่างกายผลิตอินซูลินผิดปกติและนำไปสู่การเกิดโรคเบาหวาน นอกจากนี้หากระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงและลดอย่างรวดเร็ว จะทำให้รู้สึกหิวง่ายและกินจุกจิก จนนำไปสู่โรคอ้วนได้ง่าย
มารู้จักอาหารที่ผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นแนะนำให้ทานบ่อยๆ เพื่อช่วยลดระดับน้ำตาลที่เพิ่มสูงในเลือดและทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ส่งผลในการรักษาระดับการผลิตอินซูลินในร่างกายให้ปกติ
หอมใหญ่
ในหอมใหญ่มีสารที่เรียกว่าไอโซอัลลิอิน (Isoalliin) ซึ่งมีผลในการช่วยการทำงานของอินซูลิน โดยปริมาณที่ควรรับประทานเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดนั้นประมาณวันละ ¼ -1/2 หัว ทั้งแบบดิบหรือแบบสุกตามชอบ
อะโวคาโด
ผลอะโวคาโด อุดมไปด้วยไขมันชนิดไม่อิ่มตัว (Unsaturated fatty acids) ซึ่งช่วยชะลอการไหลของน้ำตาลไปยังหลอดเลือด จึงช่วยป้องกันไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้อะโวคาโดยังอุดมไปด้วยเส้นใยอาหารที่ละลายน้ำได้ ซึ่งช่วยชะลอการดูดซับน้ำตาลจากอาหารเข้าสู่ร่างกาย
นัตโตะ (ถั่วหมัก)
อุดมไปด้วยเพคติน ซึ่งเป็นเส้นใยชนิดละลายน้ำได้ จะช่วยลดการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือดหลังการทานอาหาร อีกทั้งนัตโตะยังอุดมไปด้วยกลูโคแมนแนนซึ่งเป็นเส้นใยอาหารที่มีลักษณะเป็นเมือกหนืด ช่วยป้องกันไม่ให้น้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว การทานนัตโตะเป็นประจำจึงเป็นวิธีการป้องกันโรคเบาหวานของคนญี่ปุ่น
ปลาเนื้อสีน้ำเงิน
จำพวก ปลาซาบะ ปลาซาร์ดีน ปลาทู ปลาซันมะ และปลาคัตสึโอะ เป็นต้น อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 และวิตามินดี ซึ่งทำงานร่วมกันในการทำให้การหลั่งของอินซูลินเป็นปกติ
ต้นอ่อนบร็อคโคลี่
อุดมไปด้วยสารซัลโฟราเฟน (Sulforaphane) ซึ่งช่วยให้ร่างกายควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี นอกจากต้นอ่อนบร็อคโคลี่แล้ว บร็อคโคลี่ ดอกกะหล่ำดอก กะหล่ำปลี คะน้า และผักกาดขาว ก็มีสารซัลโฟราเฟนเช่นกัน แต่ต้นอ่อนบร็อคโคลี่จะมีสารประกอบชนิดนี้สูงสุด
กระเจี๊ยบเขียว
ในกระเจี๊ยบ มีเส้นใยอาหารเพคตินที่เป็นเมือกเหนียว ซึ่งช่วยในการจับน้ำตาลในร่างกาย ชะลอการเพิ่มสูงของระดับน้ำตาลในเลือดหลังมื้ออาหาร นอกจากนี้กระเจี๊ยบเขียวยังอุดมไปด้วยแมกนีเซียมและสังกะสี ซึ่งช่วยให้การทำงานของอินซูลินดีขึ้น
ข้าวบาร์เล่ย์
อุดมไปด้วยบีต้ากลูแคน ( β-glucan) ซึ่งเป็นเส้นใยอาหารชนิดละลายน้ำได้และช่วยป้องกันการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้ข้าวบาร์เล่ย์ยังอุดมไปด้วยเส้นใยอาหารชนิดไม่ละลายน้ำ ซึ่งทำให้รู้สึกอิ่มท้องเร็วและทำให้ทานอาหารได้น้อย ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นช้าทางอ้อม
เมื่อชีวิตขาดหวานไม่ได้ เราก็ต้องมีวิธีดูแลเพื่อไม่ให้ความหวานนั้นมาทำลายสุขภาพเรา อาหารธรรมชาติที่ช่วยลดปริมาณน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นในกระแสเลือดหลังมื้ออาหาร นำไปสู่การลดปริมาณยาที่ต้องทานเพื่อควบคุมน้ำตาล ซึ่งหมายความว่าจะช่วยถนอมร่างกายของจากผลข้างเคียงของยาเคมีได้
“ทานอาหารให้เป็นยา ดีกว่าทานยาเป็นอาหาร”