ข้าวกล้อง ข้าวขาว
ปรับปรุงล่าสุด : 25 กันยายน 2563หลาย ๆ คนหันมาใส่ใจในสุขภาพมากขึ้น การออกกำลังกาย การเลือกรับประทานอาหารที่แคลลอรี่น้อย ๆ บางคนถึงขั้นบอกว่าเลิกกินข้าวเลยดีกว่าเพราะข้าวเป็นแป้ง น่าจะทำให้อ้วนได้ ดังนั้นในบทความนี้จะขอพูดถึงแหล่งคาร์โบไฮเดรตทางเลือกอย่างเช่น ข้าวกล้อง ว่ามีความแตกต่างจากข้าวขาวหรือข้าวที่ผ่านการขัดสีมาแล้วอย่างไร
ข้าวกล้อง เป็นข้าวที่เอาเปลือกออกแต่ในส่วนของจมูกข้าวและเยื่อหุ้มเมล็ดข้าว (รำ) ยังอยู่ ซึ่งเป็นส่วนที่มีประโยชน์มาก ไม่ว่าจะเป็น วิตามิน บี 1, บี 2, ธาตุเหล็ก, ใยอาหาร และอื่นๆ อีกมากมาย อย่างไรก็ตาม วันนี้เราจะมาดูกันว่า กินข้าวกล้องแตกต่างจากการกินข้าวขาวอย่างไร ดีต่อร่างกายอย่างไร โดยจะพิจารณาความสำคัญของค่า ๆ หนึ่ง คือ ค่า #GlycemicIndex (#GI) หรือดัชนีน้ำตาล โดยอาหารชนิดใดที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูงจะหมายถึง เมื่อบริโภคอาหารชนิดนั้นเข้าไป จะถูกย่อยและกลายสภาพเป็นน้ำตาลในกระแสเลือดอย่างรวดเร็ว เพราะประกอบด้วย น้ำตาลโมเลกุลเชิงเดี่ยวในปริมาณมาก ทำให้เกิดความเสียหายต่อหลอดเลือด อีกทั้งยังทำให้อินซูลินจากตับอ่อนหลั่งออกมาอย่างรวดเร็วด้วย เมื่อน้ำตาลถูกอินซูลินพาเข้าไปในเซลล์อย่างรวดเร็วแล้ว อินซูลินที่หลั่งออกมามากและค้างอยู่ในกระแสเลือดก็กลับเกิดภาวะโหยน้ำตาล จึงทำให้ไม่สามารถเลิกรับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูง ๆ ได้ ซึ่งหากรับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูงเป็นประจำก็จะส่งผลทำให้เพิ่มความเสี่ยงการเป็น #โรคเบาหวาน #โรคอ้วน #โรคหลอดเลือดสมอง #โรคหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงการสะสมไขมันที่มากขึ้น และนั่นจะทำให้คุณอ้วนขึ้น
“แม้ว่าคาร์โบไฮเดรตที่ไม่ผ่านการขัดสีจะมีค่าดัชนีน้ำตาลไม่สูง แต่ก็ควรทานแต่พอดี และ ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง”
จะเห็นว่าอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูงมีผลต่อร่างกายเราอย่างมากถ้าบริโภคในปริมาณที่ไม่พอดี คราวนี้เราลองมาดูค่า GI ของข้าวชนิดต่าง ๆ และแหล่งคาร์โบไฮเดรตอื่น ๆ กัน ตัวอย่างเช่น น้ำตาลกลูโคส (ค่า GI =100), ข้าวขาวหอมมะลิ (ค่า GI = 100), ข้าวเหนียว (ค่า GI = 98), ข้าวกล้อง (ค่า GI =50), ขนมปังโฮลวีท (ค่า GI =53), วุ้นเส้น (ค่า GI =39)
คราวนี้เราลองมาดูรายงานวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ของอังกฤษที่ชื่อว่า The British Medical Journal ในหัวข้อ การบริโภคข้าวขาวและความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (White rice consumption and risk of type 2 diabetes meta-analysis and systematic review ) จะพบว่าการบริโภคข้าวที่ผ่านการขัดสีหรือข้าวขาว มีความเสี่ยงต่อโรค #เบาหวานชนิดที่2 โดยเฉพาะในชาวเอเชียที่มีการบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก ซึ่งจากงานวิจัยทำให้เราต้องตระหนักแล้วว่าการเลือกรับประทานข้าวของเรา ในแต่ละมื้อเราควรเลือกให้ดีว่าคาร์โบไฮเดรทที่เรารับประทานไปนั้นเป็นชนิดใด แม้ว่าคาร์โบไฮเดรตที่ไม่ผ่านการขัดสีจะมีค่าดัชนีน้ำตาลที่ไม่สูงมากแต่ก็ควรรับประทานแต่พอดีและออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง