ยาเบาหวาน ชนิดรับประทาน
ปรับปรุงล่าสุด : 18 มกราคม 2564ยาลดระดับน้ำตาล หรือ ยาเบาหวานชนิดรับประทาน ยาเบาหวาน ชนิดรับประทานใช้สำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 เท่านั้น ไม่สามารถใช้ในเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งจำเป็นต้องฉีดอินซูลิน ยาชนิดรับประทานมีหลายชนิด ซึ่งออกฤทธิ์แตกต่างกันไป
ยาที่แพทย์มักให้กับผู้ป่วยเบาหวานเป็นชนิดแรกคือ ยาเมทฟอร์มิน ซึ่งมักมีลักษณะเป็นยาเม็ดใหญ่ออกฤทธิ์ลดการสร้างน้ำตาลจากตับ ยาเมทฟอร์มินรับประทานวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็นผลข้างเคียงของยานี้อาจจะทำให้เกิดอาการ แน่นท้อง เบื่ออาหาร การรับประทานพร้อมอาหารจะลดอาการข้างเคียงของยานี้อาจทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรดได้ในผู้ป่วยบางรายโดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ไตทำงานไม่ดี ดังนั้น หากมีอาการคลื่นไส้อาเจียนมาก หายใจเร็วหลังรับประทานยานี้ ต้องรีบมาพบแพทย์
“ยาเบาหวาน ชนิดรับประทานใช้สำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 เท่านั้น ไม่สามารถใช้ในเบาหวานชนิดที่ 1”
เมื่อใช้ยาเมทฟอร์มินเป็นยาตัวแรกแล้ว หากยังไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ตามเกณฑ์ หรือหากระดับน้ำตาลสูงมากตั้งแต่ต้น แพทย์จะพิจารณาให้ยาเพิ่มเติมตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย ยาที่ผู้ป่วยมักจะได้รับต่อจากเมทฟอร์มินคือยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรียซึ่งมักมีลักษณะเป็นยาเม็ดเล็ก ยาในกลุ่มนี้รับประทานวันละ 1-2 ครั้งโดยยาจะออกฤทธิ์กระตุ้นตับอ่อนให้ผลิตอินซูลินเพิ่มขึ้น ทำให้มีอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อยคือน้ำตาลในเลือดต่ำ ข้อควรปฏิบัติเมื่อได้รับยากลุ่มนี้ จึงควรรับประทานอาหารหลังจากทานยาไม่เกิน 30 นาที กินอาหาร ออกกำลังกายให้ตรงเวลา และพกน้ำตาลก้อนหรือน้ำหวานติดตัวไว้เสมอ เพื่อใช้เวลาที่มีอาการน้ำตาลในเลือดต่ำซึ่งอาจมีอาการใจสั่น หิวข้าว หลงลืม จนถึงไม่รู้สึกตัวได้
หากมีอาการน้ำตาลต่ำเกิดขึ้นบ่อยหรือยังควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้เมื่อได้รับยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรียและเมทฟอร์มิน แพทย์อาจเปลี่ยนยาหรือเพิ่มยาเบาหวานที่ออกฤทธิ์แบบอื่นครับ
Credit : พลอากาศโท นายแพทย์ อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย