มนุษย์ถูกออกแบบมาให้วิ่ง มากกว่าเดิน
ปรับปรุงล่าสุด : 18 มกราคม 2564“มนุษย์ถูกออกแบบมาให้วิ่ง มากกว่าเดิน และการวิ่งได้นานๆทำให้มนุษย์มีเนื้อกิน
”
เชื่อว่าหลายคนเข้าใจว่า การที่มนุษย์ล่าสัตว์ได้นั้น ก็เพราะเรามีสมองที่สามารถคิด ประดิษฐ์อาวุธได้ คือธนูและหอก สำหรับล่าสัตว์มาเป็นอาหาร เมื่อหลายล้านปีก่อน นั่นเป็นเรื่องที่เข้าใจผิดอย่างมาก หากวิเคราะห์หลักฐานจากกระดูกของมนุษย์และสัตว์ จะพบว่า
มนุษย์เริ่มกินเนื้อสัตว์เมื่อ 2.6 ล้านปีที่ผ่านมา เห็นได้จากหลักฐานการทุบกระดูกสัตว์และใช้ขนสัตว์ ฯลฯ ในถ้ำที่อยู่อาศัย
อาวุธชิ้นแรกของเรา คือไม้ปลายแหลมเมื่อ 500,000 ปีที่แล้ว ธนู / ลูกธนู เกิดขึ้นช่วง 100,000 ปีก่อน ตามมาด้วยมีหอก ในช่วง 20,000 ปีที่แล้ว
“การที่เราออกวิ่งในทุกๆ วันนั้นไม่ต่างจากการฝึกร่างกาย ให้ร่างกายได้กลับสู่ความเป็นธรรมชาติ เหมือนที่ธรรมชาติสร้างมา เพราะว่ามนุษย์นั้น Born To Run ”
คำถามคือ แล้วมนุษย์สามารถล่าและจับสัตว์ได้อย่างไร ในช่วง 2 ล้านปีก่อน ก่อนที่จะมีอาวุธชิ้นแรก ว่ากันตามตรง การกินเนื้อสัตว์นั้นมีความสำคัญอย่างมาก เพราะโปรตีน ทำให้มนุษย์ฉลาดขึ้น แต่ก็ตามมาด้วยขนาดสมอง ที่ใหญ่ขึ้นด้วย อ่านมาถึงตรงนี้ บางคนอาจจะกำลังนึกว่า ความฉลาดจากการมีสมองใหญ่ ทำให้มนุษย์จับสัตว์ได้
แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ ดร. แดเนียล ลิเบอร์แมน นักมานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด อธิบายว่า เมื่อ 2.6 ล้านปีที่แล้ว การมีสมองขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้หัวใหญ่ นอกจากจะไม่มีประโยชน์แล้ว ยังเป็นภาระอย่างมากอีกด้วย เพราะหัวขนาดใหญ่ทำให้คลอดยาก สมัยก่อน ผู้หญิงมีโอกาสเสียชีวิตจากการคลอดลูกร้อยละ 20-30 ดังนั้น ร่างกายจึงวิวัฒนาการ ให้รีบคลอดออกมาก่อนที่หัวจะใหญ่เกินไป แต่ก็ทำให้เด็ก เกิดมาแบบช่วยตัวเองไม่ได้ พ่อแม่ต้องเสียเวลาราว 10 ปี เลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด
แตกต่างจากสัตว์อื่นๆ ที่คลอดลูกออกมาแล้วลูกเดินได้ วิ่งได้ ในระยะเวลาไม่กี่วัน
มนุษย์ เริ่มล่าสัตว์ได้เมื่อ 2.6 ล้านปีที่แล้ว ไม่ใช่เพราะมีสมองขนาดใหญ่ แต่ล่าสัตว์ได้ เพราะวิ่งไล่ จนสัตว์ตาย
“มนุษย์นั้น สามารถวิ่งที่ความเร็วระดับ 9-10 กิโลเมตร/ชั่วโมง (Pace 6:00 - 6:40) ได้เป็นเวลานานติดต่อกัน 4-5 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น ”
การทนวิ่ง วิ่งทน ทำให้มนุษย์สามารถร่วมมือกัน วิ่งไล่สัตว์ให้เหนื่อยจนขาดใจ และเสียชีวิตได้ในที่สุด (Persistence hunting)
แม้สัตว์หลายชนิดจะวิ่งได้เร็วกว่ามนุษย์ 2-3 เท่า แต่ไม่มีสัตว์ประเภทใด วิ่งได้ยาวนานเท่ามนุษย์ โดยเฉพาะในภาวะที่อากาศร้อน
เพราะร่างกายมนุษย์ สามารถระบายความร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง จากเหงื่อที่ออกจากผิวหนังทั่วทั้งตัวและยังหายใจเร็วติดต่อกันได้นานหลายชั่วโมง
ในขณะที่สัตว์อื่นๆ ร่างกายมีขน ระบายความร้อนด้วยเหงื่อไม่ได้ ต้องหายใจ และระบายความร้อน โดยการห้อยลิ้นออกมาหายใจแรงๆ (panting)
สัตว์ ไม่สามารถวิ่งเร็ว และหายใจไปพร้อมๆ กันได้ดีเท่ามนุษย์ สัตว์จะหายใจให้ลมเข้าปอดได้น้อยมากในช่วงที่วิ่งเร็ว และต้องหยุดวิ่ง พักเหนื่อย หายใจให้เต็มปอด
นอกจากนั้น ดร.ลิเบอร์แมนยังกล่าวถึงลักษณะต่างๆ ของร่างกายมนุษย์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อ “วิ่ง” ไม่ใช่เพื่อเดิน เช่น
- กล้ามที่ก้น (Gluteus Maximus) กล้ามมัดใหญ่และแข็งแรงที่สุดของมนุษย์ ที่เราไม่ต้องใช้งานเลย ขณะเดิน แต่จะถูกใช้งาน ขณะวิ่ง ก้นที่ยื่นออกมาข้างหลังของมนุษย์นั้น มีหน้าที่เหมือนหางของสัตว์ ช่วยให้ร่างกายมีเสถียรภาพขณะวิ่ง
- ขาที่ยาวและแข็งแรง รวมทั้งหัวเข่าและเอ็นร้อยหวาย (Achilles tendon) ล้วนแต่ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อการวิ่งทั้งสิ้นเพราะรวมกันแล้ว เป็นเสมือนสปริงมีประโยชน์มากในการเก็บเอาพลังงาน ไปใช้สำหรับวิ่ง แต่จะไม่ถูกใช้งานเวลาเดิน
- ร่างกายมนุษย์ที่ยืน 2 ขานั้น ทำให้บางส่วนของร่างกายได้รับลมทำให้การระบายความร้อนด้วยเหงื่อทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อต้องวิ่งเวลานานๆ
- มีเอ็น nuchal ligament ที่หัว คอ และหัวไหล่ เพื่อช่วยให้หัวอยู่นิ่งระหว่างวิ่ง แทนที่จะแกว่งไปมา nuchal ligament ไม่มีความจำเป็นต้องใช้เวลาเดิน
กล่าวโดยสรุปคือ ร่างกายมนุษย์นั้น วิวัฒนาการมาเพื่อการวิ่งยาวๆ นานๆ เวลาอากาศอบอ้าว ทำให้ได้เปรียบสัตว์อื่นๆ ที่วิ่งเร็วกว่า มนุษย์จึงสามารถลาเนื้อมากินได้ ในช่วง 2.6 ล้านปีที่ผ่านมา