ฟ้าทะลายโจร
ปรับปรุงล่าสุด : 11 มกราคม 2564ฟ้าทะลายโจร จัดเป็นสมุนไพรท้องถิ่นในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินเดีย จีน ศรีลังกา ไทย และยังใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายประเทศทั่วทวีปเอเชีย โดยนิยมนำส่วนของใบและลำต้นใต้ดินมาทำเป็นยารักษาโรค โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ ในประเทศไทยได้บรรจุฟ้าทะลายโจรอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ (บัญชียาจากสมุนไพร) ของกระทรวงสาธารณสุข ในหมวดหมู่ยารักษากลุ่มอาการของระบบทางเดินอาหารและระบบทางเดินหายใจ
สำหรับโรคหรือภาวะอื่นที่ถูกกล่าวถึง เช่น รักษาอาการเจ็บคอ ไอ ต่อมทอนซิลบวม หลอดลมอักเสบและอาการแพ้ ป้องกันโรคหัวใจและโรคเบาหวาน แมลงกัด โรคตับ โรคไข้เมดิเตอร์เรเนียน ลดไข้ บรรเทาอาการในระบบย่อยอาหาร (ท้องเสียแบบไม่ติดเชื้อ ท้องผูก มีแก๊ซในกระเพาะอาหารมาก ปวดท้อง) โรคเกี่ยวกับตับ (ภาวะตับโต ดีซ่าน ตับอักเสบจากการใช้ยา) การติดเชื้อ (โรคเรื้อน โรคปอดบวม วัณโรค โรคหนองใน การติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคเอดส์) หรืออาการทางผิวหนังอื่น ๆ ซึ่งการวิจัยและค้นคว้าข้อมูลบางส่วนที่เชื่อว่าฟ้าทะลายโจรอาจมีส่วนช่วยโรคเหล่านี้ มีดังนี้
โรคหวัด
ฟ้าทะลายโจรนิยมใช้รักษาโรคไข้หวัดตามตำราแพทย์แผนไทยมาตั้งแต่อดีต เนื่องจากมีสารสำคัญทางพฤกษศาสตร์หลายชนิด เช่น ไดเทอร์ปีนแลคโตน (Diterpene Lactones) ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) และสารประกอบอื่น ๆ ซึ่งมักเชื่อว่าช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ทำงานดีขึ้น
จากการศึกษาเรื่องการวัดประสิทธิภาพการใช้สารสกัดจากฟ้าทะลายโจร เพื่อลดการเกิดโรคหวัด และบรรเทาอาการของโรคในผู้ป่วย 158 คน โดยให้กลุ่มทดลองรับประทานสารสกัดฟ้าทะลายโจร 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน เปรียบเทียบกับยาหลอกเป็นเวลา 5 วัน ซึ่งจะมีการตรวจดูอาการผู้ป่วยก่อนเริ่มการทดลอง วันที่ 2 และวันที่ 4 ของการทดลองด้วยการตอบแบบสอบถาม โดยจะวัดความรุนแรงของอาการปวดหัว อ่อนเพลีย ปวดหู นอนไม่หลับ เจ็บคอ คัดจมูก มีเสมหะ ความถี่และความรุนแรงของอาการไอ ผลปรากฏว่า กลุ่มที่รับประทานสารสกัดจากฟ้าทะลายโจรมีอาการของโรคบางอาการลดลงภายในวันที่ 2 และอาการลดลงทั้งหมดภายในวันที่ 4 โดยช่วยลดอาการเจ็บคอมากที่สุด ตามมาด้วยอาการคัดจมูกและปวดหู เมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก อีกทั้งยังไม่พบผลข้างเคียง
สอดคล้องกับงานวิจัยเปรียบเทียบประสิทธิภาพของยา Kan Jang (ประกอบด้วยสารสกัดของฟ้าทะลายโจรและสมุนไพรอื่น) กับยาสมุนไพรชนิดอื่นในผู้ป่วยโรคหวัดไม่รุนแรง อายุ 4-11 ปี จำนวน 130 คน เป็นระยะเวลา 10 วัน โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มที่รับการรักษาปกติ กลุ่มที่ได้รับยา Kan Jang ควบคู่กับการรักษาปกติ และกลุ่มที่ได้รับยาสมุนไพรอื่นเป็นการรักษาเสริมร่วมกับการรักษาปกติ ผลพบว่ากลุ่มที่ได้รับยา Kan Jang มีอาการคัดจมูกและน้ำมูกลดลง รวมถึงใช้เวลาในการรักษาน้อยลงและไม่พบผลข้างเคียง แต่กลุ่มที่ได้รับยาสมุนไพรชนิดอื่นคู่กับการรักษาแบบปกติไม่พบผลลัพท์ในลักษณะเดียวกัน จึงเชื่อว่ายา Kan Jang อาจช่วยบรรเทาอาการโรคหวัดให้ลดลง
ทั้งนี้ สรรพคุณของฟ้าทะลายโจรต่อโรคหวัดมีการศึกษาค่อนข้างมาก การค้นคว้าส่วนใหญ่พบหลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือและระบุประสิทธิภาพของการรักษาอยู่ในระดับที่อาจเป็นไปได้ (Possibly Effective) จึงคาดว่าฟ้าทะลายโจรอาจมีส่วนช่วยบรรเทาอาการจากโรคหวัดสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง และค่อนข้างปลอดภัยในการรับประทาน เนื่องจากจากการศึกษาไม่พบผลข้างเคียง ซึ่งอาจเป็นอีกตัวเลือกเสริมของการรักษาโรคหวัดทั่วไป
โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ
ฟ้าทะลายโจรมีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการหลั่งสารที่ก่อให้เกิดอาการอักเสบในร่างกาย ต้านอนุมูลอิสระ การแข็งตัวของเลือด และยังพบรายงานว่าสารสกัดจากฟ้าทะลายโจรช่วยป้องกันโรคลำไส้ใหญ่อักเสบจากการทดลองในสัตว์ อีกทั้งยังถูกบรรจุเป็นยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติของกระทรวงสาธารณสุขในหมวดกลุ่มอาการของระบบทางเดินอาหาร จึงมักนำมาใช้ประโยชน์ในการรักษาและบรรเทาโรคลำไส้อักเสบ
จากการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของสารสกัดจากฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ ที่มีอาการของโรคในระดับเบาจนถึงปานกลาง จำนวน 120 คน เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ โดยให้รับประทานสารสกัดจากฟ้าทะลายโจร 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาเมซาลาซีน (Mesalazine) ซึ่งเป็นยาหลักที่ใช้ในการรักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ 4,500 มิลลิกรัมต่อวัน จากนั้นมีการประเมินผลทุก 2 สัปดาห์ และเข้ารับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่หลังจบการทดลอง ผลพบว่า อัตราการตอบสนองของผู้ป่วยและอาการของโรคลดลงมีความใกล้เคียงกัน สารสกัดจากฟ้าทะลายโจรก็อาจเป็นประโยชน์ในการพัฒนาใช้ในการรักษาเช่นเดียวกับยาเมซาลาซีน
เช่นเดียวกับงานวิจัยอีกชิ้นที่ศึกษาประสิทธิภาพของสารสกัดจากฟ้าทะลายโจรที่มีอาการของโรคในระดับเบาจนถึงปานกลาง จำนวน 224 คน โดยแบ่งให้รับประทานสารสกัดจากฟ้าทะลายโจร 2 กลุ่ม ได้แก่ 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน และ 1,800 มิลลิกรัมต่อวัน เปรียบเทียบกับกลุ่มสุดท้ายที่ได้รับยาหลอกในระยะเวลา 8 สัปดาห์ ผลพบว่า กลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากฟ้าทะลายโจร 1,800 มิลลิกรัมต่อวัน มีผลการตอบสนองทางคลินิกและช่วยบรรเทาอาการของโรคได้ดีกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากฟ้าทะลายโจรในปริมาณ 1,800 มิลลิกรัมต่อวันมีแนวโน้มที่ได้ผลดีกว่ากลุ่มอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ยังพบอาการไม่พึงประสงค์ในผู้ป่วยทั้ง 3 กลุ่ม โดยกลุ่มที่รับประทานฟ้าทะลายโจรพบรายงานการเกิดผื่นประมาณ 8% ขณะที่กลุ่มที่ได้รับยาหลอกมีอัตราการเกิดผื่นประมาณ 1% ทั้งนี้ ผื่นที่เกิดขึ้นเป็นผลข้างเคียงที่ไม่ค่อยรุนแรงและไม่กระทบต่อการรักษา
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลในข้างต้นเชื่อว่าฟ้าทะลายโจรอาจมีความเป็นไปได้ในการบรรเทาอาการของโรคลำไส้ใหญ่อักเสบได้เช่นเดียวกับยาเมซาลาซีนที่ใช้เป็นรักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบในปัจจุบัน แต่ควรระมัดระวังในการใช้อย่างเหมาะสมและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เป็นสำคัญ เนื่องจากการใช้ฟ้าทะลายโจรยังเป็นการแพทย์ทางเลือกและพบรายงานผลข้างเคียงจากการศึกษาอยู่บางส่วน จึงยังต้องการงานวิจัยสนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อช่วยยืนยัน
ลดอาการไข้ เจ็บคอ
ลดอาการไข้และอาการเจ็บคอที่มีสาเหตุจากต่อมทอนซิลอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบเป็นการอักเสบของต่อมทอนซิลจากการติดเชื้อในช่องคอ ด้วยสรรพคุณช่วยระงับอาการอักเสบและต้านเชื้อการติดเชื้อของฟ้าทะลายโจร บางส่วนจึงนิยมรับประทานสมุนไพรชนิดนี้ตามความเชื่อของสูตรยาแผนโบราณ
จากการศึกษาประสิทธิภาพของสารสกัดจากฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจส่วนบนไม่รุนแรง 223 คน แบ่งเป็นกลุ่มที่รับประทานสารสกัดจากฟ้าทะลายโจร 200 มิลลิกรัมต่อวัน และอีกกลุ่มรับประทานยาหลอกเป็นระยะเวลา 5 วัน ซึ่งจะวัดผลด้วยการประเมินอาการจากตัวผู้ป่วยเองในด้านต่าง ๆ ได้แก่ อาการไอ เสมหะ มีน้ำมูก ปวดศีรษะ มีไข้ เจ็บคอ อาการเหนื่อยง่าย และปัญหาในการนอน ผลพบว่า ทั้ง 2 กลุ่มมีอาการดีตั้งแต่เริ่มจนจบการทดลอง แต่กลุ่มที่รับประทานสารสกัดจากฟ้าทะลายโจรเห็นผลได้อย่างชัดเจนในช่วงวันที่ 3-5 มากกว่ากลุ่มที่รับประทานยาหลอก อย่างไรก็ตาม ยังพบผลข้างเคียงเล็กน้อยในทั้ง 2 กลุ่ม จากการทดลองจึงเชื่อว่าฟ้าทะลายโจรอาจช่วยรักษาหรือบรรเทาอาการติดเชื้อในทางเดินหายใจตอนต้น แต่ต้องรอการค้นคว้าหรือหลักฐานในอนาคตเพิ่มเติม เพื่อช่วยยืนยันประสิทธิภาพมากกว่านี้
โรคข้อรูมาตอยด์
เป็นโรคเรื้อรังที่เกิดการอักเสบตามข้อและหลายอวัยวะในร่างกาย ซึ่งฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยเฉพาะสารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) จึงถูกนำมาใช้เป็นการรักษาทางเลือกในโรคภูมิต้านตนเองหรือแพ้ภูมิตนเอง จากการศึกษาการใช้ยาที่มีสารสกัดจากฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโรคข้อรูมาตอยด์ที่มีอาการของโรคกำเริบ 60 คน ซึ่งตัวยาจะประกอบด้วยสารแอนโดรกราโฟไลด์ 30% โดยให้รับประทานวันละ 3 ครั้งติดต่อกันเป็นระยะเวลา 14 สัปดาห์เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก และวัดผลโดยตอบแบบสอบถามหลังการจบทดลอง 2 สัปดาห์ ผลพบว่า ความรุนแรงของอาการปวดข้อและข้อบวมในกลุ่มที่ได้รับยาที่มีสารสกัดจากฟ้าทะลายโจรลดลง อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ชี้แนะว่า ฟ้าทะลายโจรก็อาจนำไปใช้เป็นการรักษาเสริมในผู้ป่วยโรคข้อรูมาตอยด์ในอนาคต แต่ยังต้องศึกษากับกลุ่มการทดลองขนาดใหญ่ขึ้นและติดตามผลในระยะเวลานานกว่าเดิม อีกทั้งยังมีปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องกับโรคอีกหลายส่วน ทำให้ยากต่อการสรุปผลทันที
โรคไข้หวัดใหญ่
คุณสมบัติของฟ้าทะลายโจรคือช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ทำงานได้ดีขึ้น จึงคาดกันว่าฟ้าทะลายโจรน่ามีประสิทธิภาพในการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ได้เช่นกัน จากการศึกษานำร่อง 2 ชิ้น เกี่ยวกับประสิทธิภาพของการใช้สารสกัดที่มีส่วนประกอบของฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ จำนวน 540 คน เปรียบเทียบกับยาอะแมนตาดีน (Amantadine) ที่เป็นยารักษาโรคไข้หวัดใหญ่ ผลพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับสารสกัดฟ้าทะลายโจรมีอาการดีขึ้นเร็วและอาการแทรกซ้อนน้อยกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาอะแมนตาดีน ผลวิจัยทั้ง 2 ชิ้นนี้อาจชี้ให้เห็นว่าสารสกัดฟ้าทะลายโจรน่าจะมีประสิทธิภาพต่อการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ ทั้งนี้ การวิจัยในครั้งนี้เป็นเพียงการศึกษาเบื้องต้น และ ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในด้านอื่นก่อนการสรุปผล
ความปลอดภัยในการรับประทานฟ้าทะลายโจร
ฟ้าทะลายโจรค่อนข้างปลอดภัยต่อร่างกายหากรับประทานในปริมาณและระยะเวลาที่เหมาะสม แต่บางรายอาจเกิดผลข้างเคียงตามมาหลังการรับประทานเล็กน้อย เช่น ไม่อยากอาหาร อาเจียน ท้องเสีย ผื่นขึ้น ปวดศีรษะ น้ำมูกไหล หรือเหนื่อยง่าย
การรับประทานฟ้าทะลายโจรในรูปแบบสารสกัดผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น โดยเฉพาะโสมไซบีเรีย (Siberian Ginseng) ไม่ควรรับประทานติดต่อกันเกิน 3 เดือน และควรระมัดระวังการรับประทานสมุนไพรชนิดนี้ในปริมาณเข้มข้นสูงหรือใช้ติดต่อเป็นเวลานาน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้ต่อมน้ำเหลืองบวม เกิดปฏิกิริยาแพ้อย่างรุนแรง เอนไซม์ตับสูงขึ้น หรือมีอาการอื่น ๆ ตามมา รวมถึงเพิ่มความระมัดระวังในการรับประทานฟ้าทะลายโจรในกรณีต่อไปนี้
- การรับประทานฟ้าทะลายโจรค่อนข้างปลอดภัยต่อเด็กและทารกหากใช้ในระยะเวลาสั้น ๆ และการใช้ฟ้าทะลายโจรร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นไม่ควรรับประทานติดต่อกันเกิน 1 เดือน
- หญิงมีครรภ์และคุณแม่ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงที่จะรับประทาน เนื่องจากอาจเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะแท้งและยังไม่มีหลักฐานยืนยันความปลอดภัยต่อทารกที่ดื่มนมแม่
- ผลการทดลองในสัตว์พบว่าฟ้าทะลายโจรอาจรบกวนระบบการสืบพันธุ์ แต่ยังไม่มีหลักฐานยืนยันผลในคนในปัจจุบัน ผู้ที่มีภาวะมีบุตรยาก (Infertility) หรือมีปัญหาในการตั้งครรภ์จึงควรหลีกเลี่ยงที่รับประทาน
- ฟ้าทะลายโจรอาจกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ไวต่อการทำงานมากขึ้น ผู้ป่วยในกลุ่มโรคภูมิต้านตนเอง เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โรคลูปัสหรือโรคเอสแอลอี โรคข้อรูมาตอยด์ หรือสภาวะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ควรรับประทานสมุนไพรชนิดนี้
- ฟ้าทะลายโจรอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดออกผิกปกติหรือรอยฟกช้ำได้ง่าย ผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติจึงควรหลีกเลี่ยงที่จะรับประทาน รวมถึงผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดควรหยุดใช้สมุนไพรนี้อย่างน้อย 2 สัปดาห์
- ฟ้าทะลายโจรอาจส่งผลให้ความดันโลหิตต่ำลง แต่ยังไม่มีผลการยืนยันผลต่อการใช้ในคน ผู้ที่มีภาวะความต่ำจึงไม่ควรรับประทาน เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ
- ผู้ที่รับประทานยาเป็นประจำควรปรึกษาแพทย์ก่อนการรับประทานฟ้าทะลายโจรทุกครั้ง เนื่องจากยาบางชนิดอาจเกิดปฏิกิริยาต่อกันของยาและสมุนไพร เช่น ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง ยากดภูมิคุ้มกัน ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาต้านเกล็ดเลือด
อย่างไรก็ตาม การรับประทานฟ้าทะลายโจร เพื่อวัตถุประสงค์ในการรักษาโรคหรือภาวะผิดปกติบางอย่างยังคงต้องหาหลักฐานยืนยันถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย จึงไม่ควรรับประทานตามคำอ้างต่าง ๆ โดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ