วิ่งยังไงไม่ให้เหนื่อยง่าย
ปรับปรุงล่าสุด : 11 กุมภาพันธ์ 2564“วิ่งแล้วเหนื่อยง่ายจัง เหนื่อยเร็วจัง ทำไมวิ่งแค่ 5 นาทีก็เหนื่อยแล้ว”
เป็นคำถามยอดฮิต ติดหู ได้ยินกันบ่อยมาก มีวิธีที่สามารถนำไปปรับใช้ ที่จะทำให้เราไม่เหนื่อยง่าย อีกต่อไป
กายพร้อมใจก็ต้องพร้อม
ถ้าร่างกายเราบอกว่าพร้อมแล้ว เข่า ข้อ กล้ามเนื้อ เอว สะโพก ฟิตพร้อมจะวิ่ง สิ่งที่ขาดไม่ได้เช่นกันคือจิตใจครับ เราต้องปรับสภาพจิตใจให้พร้อมวิ่งด้วย ยกความเครียดทิ้งไป เก็บเรื่องปวดหัวไว้ข้างหลัง เพราะเรื่องพวกนี้มันคือต้นเหตุทำให้การวิ่งของเราไม่สนุก และยังส่งผลทางอ้อมทำให้เราเหนื่อยเร็วอีกด้วย
อุ่นเครื่อง
การวอร์มอัพร่างกายเป็นสิ่งสำคัญ การ Warm up ที่ถูกวิธี คือการยืดที่เราจะไม่อยู่กับที่มีการเคลื่อนที่ไปมา เช่น การดีดขาขึ้นมาแตะก้นของเราสลับไปมา หรือ การยกขาช่วงล่างเข่าขึ้นมากอด หรือจะเป็นการวิ่งเขย่งก้าวสลับขา การวอร์มอัพร่างกายนั้นจะช่วยให้กล้ามเนื้อและระบบประสาทของเราพร้อมรับการกระตุ้นจากการออกกำลังกาย นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มอุณหภูมิของกล้ามเนื้อทำให้กล้ามเนื้อทำงานได้รวดเร็วและมีแรงมากยิ่งขึ้นอีกด้วยครับ ส่งผลทำให้เราวิ่งได้นานขึ้น
วิ่งสลับเดินเร็ว
สำหรับนักวิ่งมือใหม่ขอแนะนำให้วิ่งสลับกับเดินเร็ว โดยจะวิ่งเหยาะ ๆ ไปเรื่อย ๆ จนรู้สึกว่าเหนื่อยแล้วให้สลับมาเดินเร็ว ทำให้ร่างกายของเราแอคทีฟอยู่ตลอดเวลา หลังจากร่างกายเริ่มเคยชินแล้ว ก็ลองเปลี่ยนมาวิ่ง 5 นาที สลับเดิน 3 นาที ลองวางแผนการวิ่งของตัวเอง แล้วค่อย ๆ ขยับเวลาไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องรีบ
Weight Training
สำหรับคนที่ชอบ weight training จะทำควบคู่ไปด้วยก็ไม่ผิดนะ เพราะจะช่วยทำให้กล้ามเนื้อเราแข็งแรง และลดความเสี่ยงอาการบาดเจ็บหลังวิ่งได้ดี
ฝึกหายใจขณะวิ่งให้ถูกหลัก
เทคนิคการหายใจอย่างถูกวิธีในขณะวิ่งเป็นสิ่งที่นักวิ่งมือใหม่ควรจะต้องเรียนรู้ เพราะจะช่วยทำให้เราสามารถที่จะวิ่งไปได้เร็วขึ้น แถมวิ่งได้นานขึ้น ที่สำคัญควรจะฝึกตั้งแต่ช่วงแรกที่เราเริ่มหัดวิ่ง โดยจังหวะการหายใจในการวิ่งที่นักวิ่งมือใหม่ควรรู้ และนำไปฝึกจะเป็นตามนี้
จังหวะการวิ่ง 2-2 (in 2, out 2)
- หายใจเข้าพร้อมกับก้าวเท้าขวา นับ 1 (เรียกว่า in จะเข้าใจง่ายกว่า)
- เท้าซ้ายลงพื้นนับ 2 (ก็ยังเป็น in 2)
- เท้าขวาลงนับ 1 (ให้เรียกว่า out 1)
- ซ้ายลงนับ 2 (ให้เรียกว่า out 2)
- เท้าขวาลงอีกครั้งนับ 1 หรือ in ก็คือรอบจังหวะการหายใจต่อไป
จะเห็นได้ว่าการหายใจเข้าออกจะลงที่เท้าขวาทุกครั้งนะครับ และจังหวะแรงกระแทกที่ส่งจากช่วงล่างจากเท้าที่กระทบพื้น สู่ช่วงลำตัวและกล้ามเนื้อกะบังลม (Diaphragm) ขณะยืดหดตัวนั้นก็มาจากเท้าขวา ทุกครั้งที่หายใจเราก็ได้รับแรงจากด้านขวาเพียงข้างเดียว
จังหวะการวิ่ง 3-2 (in 2,3 out 2)
- จังหวะที่ก้าวเท้าขวาลงหายใจเข้านับ 1 (เรียกว่า in 1 เหมือนเดิมนะ)
- ขาซ้ายก้าวนับ 2 (ให้เรียกว่า in 2)
- ขาขวาก้าวนับ 3 (ให้เรียกว่า in 3)
- ขาซ้ายก้าว และหายใจออกนับ out (ให้เรียกว่า out 1)
- ขาขวาก้าวนับ 2 (ให้เรียกว่า out 2)
- ขาซ้ายลง และหายใจนับ 1 หรือ in ก็คือรอบจังหวะการหายใจต่อไป
สรุป การสร้างจังหวะวิ่งแบบ 3-2 หรือช่วงจังหวะหายใจเข้าจะลงเท้า 3 ครั้ง และหายใจออก 2 ครั้ง จะช่วยป้องกันอาการบาดเจ็บได้ดีขึ้นมาก เพราะช่วงที่เราหายใจอยู่นั้นกล้ามเนื้อจะมีการยืดหด และจะเห็นได้ว่าจังหวะหายใจเข้าจะสลับกันระหว่างซ้ายและขวา ทำให้กะบังลมไม่ต้องรับแรงกระแทกอยู่ที่ข้างใดข้างหนึ่งนั่นเอง แต่ในการนำไปใช้ช่วงแรก ๆ ลองฝึกหายใจโดยการเดินวอร์มอัพเบา ๆ ก่อน เพื่อปรับตัวให้คุ้นเคยกับการหายใจและจังหวะลงของเท้านะ
เพลงโปรด
การที่ จะออกไปวิ่งทั้งที หลังจากโยนความเครียดทิ้งออกไปจากหัวแล้ว การที่จะหาความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ และผ่อนคลายสักหน่อย การฟังเพลงสนุก ๆ จังหวะสบายหู หรือจะเป็นเพลงที่เราชอบก็ไม่ผิดครับ จัดเพลย์ลิสต์กันมาเลยยาว ๆ ใส่หูฟัง แล้วกดเล่นในขณะวิ่งก็จะช่วยให้เพลิดเพลิน จนลืมเหนื่อยกันไปได้เลย
ลองเอาไปฝึกกันดูนะ แต่ว่าถ้าเราหยุดวิ่ง หรือ ซ้อมไม่ต่อเนื่องจะทำให้ร่างกายของเรานั้นค่อย ๆ กลับไปสู่จุดเริ่มต้น พอกลับมาวิ่งก็อาจจะเกิดอาการเหนื่อยง่ายขึ้นมาอีกได้ เพราะฉะนั้นการซ้อมอย่างสม่ำเสมอ สำคัญที่สุด
“ซ้อมไม่ต่อเนื่อง เมื่อกลับมาวิ่งอีกครั้ง ก็อาจจะเกิดอาการเหนื่อยง่ายขึ้นมาอีก การซ้อมอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญที่สุด”