โรคทางสมอง ทางพันธุกรรม
ปรับปรุงล่าสุด : 7 มิถุนายน 2565โรคทางสมองใดบ้าง ที่อาจมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม
อัลไซเมอร์
อัลไซเมอร์ ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นในคนที่อายุมากเท่านั้น แต่อัลไซเมอร์ที่มีสาเหตุมาจากพันธุกรรมก็สามารถเกิดขึ้นกับคนอายุน้อยได้เช่นกัน แม้จะดูแลตัวเองดีมากก็ตาม
อัลไซเมอร์แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ
- มีอาการก่อนอายุ 65 ปี
- มีอาการหลังอายุ 65 ปี
โดยอัลไซเมอร์ที่ขึ้นก่อนอายุ 65 ปี เป็นชนิดที่เกิดก่อนวัย มักพบได้ในวัยรุ่นหรือวัยกลางคน แต่จะพบเป็นส่วนน้อยประมาณร้อยละ 5 เท่านั้น โดยมีสาเหตุมาจากพันธุกรรมบกพร่อง หากมีพ่อแม่ที่เป็นอัลไซเมอร์ โอกาสเสี่ยงที่จะตกทอดมาสู่รุ่นลูกสูงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ แต่อัลไซเมอร์ที่เกิดหลังช่วงอายุ 65 ปี มีสาเหตุมาจากการเสื่อมสภาพหรือสมองเสียหายตามวัยและอายุที่เพิ่มมากขึ้น
วิธีการตรวจว่าเป็นอัลไซเมอร์จากพันธุกรรมหรือไม่
- ซักประวัติคนในครอบครัวเพื่อหาค่าความเสี่ยง
- ทดสอบทางจิตวิทยา โดยการตอบปัญหาเชาวน์ปัญญา
- ตรวจหาสารพันธุกรรมเพื่อหาค่าความเสี่ยง
เมื่อตรวจหาความเสี่ยงจนแน่ใจแล้วว่ามีโอกาสเป็นอัลไซเมอร์จากสาเหตุพันธุกรรม แพทย์จะแนะนำการดูแลอย่างตนเองอย่างเหมาะสมเป็นลำดับต่อไป
ฮันติงตัน
ฮันติงตัน คือ โรคทางพันธุกรรม ที่มีสาเหตุมาจากการถ่ายทอดยีนมีความบกพร่อง หากพ่อหรือแม่มีความบกพร่องทางยีนดังกล่าว ลูกจะมีโอกาสเป็นโรคฮันติงตันถึง 50 เปอร์เซ็นต์ และสามารถส่งต่อยีนที่บกพร่องไปยังรุ่นต่อไปได้
ซึ่งความบกพร่องของยีนนี้ ทำให้เซลล์ประสาทในสมองเสื่อมส่งผลกระทบต่อร่างกายและการเคลื่อนไหว รวมถึงในด้านอารมณ์และสติปัญญา เป็นโรคทางสมองที่รักษาไม่หาย และอาจทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาทางจิตเวช อาการเหล่านี้จะแย่ลงเรื่อย ๆ และอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ภายใน 20 ปี
อาการโรคฮันติงตัน
- บุคลิกภาพเปลี่ยนไป ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายได้
- อารมณ์เปลี่ยนไป, มีปัญหาด้านความจำ การคิด และตัดสินใจ
- กลืนลำบาก และพูดลำบาก พูดไม่ชัด ติดขัด
การรักษาโรคฮันติงตัน
ปัจจุบันโรคฮันติงตัน ยังไม่สามารถรักษาได้ มีเพียงแต่วิธีที่ช่วยบรรเทาและลดความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้นเท่านั้น ซึ่งวิธีการได้แก่
- ยาเฉพาะทาง
- กิจกรรมบำบัด
- กายภาพบำบัด
- จิตบำบัด
- อรรถบำบัด (รักษาโดยการพูดคุยกับผู้ป่วย)
วิธีการป้องกันโรคฮันติงตัน
สำหรับผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคฮันติงตัน และอยากทราบว่าตนเองมีความเสี่ยงโรคนี้ด้วยหรือไม่ หรือหากกำลังตั้งครรภ์ ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับคำปรึกษาเพื่อลดความเสี่ยงในการส่งผ่านยีนไปสู่รุ่นลูก
โรคหลอดเลือดในสมอง
โรคหลอดเลือดในสมอง เป็นอีกหนึ่งโรคที่มีสาเหตุมาจากพันธุกรรม และสามารถเกิดขึ้นได้กับคนอายุน้อยเช่นกัน โรคหลอดเลือดในสมอง หรือ Stroke เกิดจากหลอดเลือดหรือเส้นเลือดในสมองอุดตัน ตีบ ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้ จึงทำให้เซลล์สมองขาดออกซิเจน และเป็นสาเหตุที่ทำให้เซลล์สมองถูกทำลาย
สามารถแบ่งออกเป็น 2 สาเหตุหลัก คือ
- หลอดเลือดเกิดตีบหรืออุดตัน
- หลอดเลือดสมองแตก
โดยโรคนี้สามารถพบได้ใน คนอายุน้อย วัยกลางคนและผู้สูงอายุ ซึ่งในกลุ่มคนอายุน้อยจะพบได้ในลักษณะของคนที่มีความผิดปกติของระดับพันธุกรรมตั้งแต่กำเนิด คือหลอดเลือดในสมองผิดปกติและการต่อกันของหลอดเลือดผิดปกติ หรือคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดสมองก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้น
ต่างจากวัยกลางคนที่มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่จัด ดื่มแอลกอฮอล์ และวัยผู้สูงอายุที่เกิดจากความเสื่อมของผนังหลอดเลือดหรือตามภาวะของโรค เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต โรคไต เป็นต้น
วิธีการป้องกันโรคหลอดเลือดในสมอง
- หมั่นตรวจสุขภาพประจำปี และซักประวัติกับทางโรงพยาบาลว่าคนในครอบครัวมีความเสี่ยงหรือไม่
- ควบคุมโรคพื้นฐาน เช่น ความดัน เบาหวาน โรคไต
- หากมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดศีรษะรุนแรง แขนอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดลำบาก ควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
ที่มา : FB สาระสมอง by MemoLogy